องค์การบริหารส่วนตำบลสร้างมิ่ง

Srangming Subdistrict Administrative Organization

การดำเนินการตามระเบียบ มท. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560


ออนไลน์ : 4

หัวข้อ :: การดำเนินการตามระเบียบ มท. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

ตามที่ได้มีข้อสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบ มท. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 นั้น กพส. (สพศ.) ขอตอบข้อสอบถาม ตามประเด็นต่างๆ ดังนี้

#ประเด็นที่ 1 : ทำไมต้องนับเกิดก่อนวันที่ 2 ตุลาคม
ตามความนัยข้อ 7 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 “ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงบประมาณถัดไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ...”
จึงต้องมาพิจารณาคำว่า “ครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงบประมาณถัดไป” ซึ่ง
1. สิ้นปีงบประมาณ คือ วันที่ 30 กันยายน
2. เริ่มปีงบประมาณ คือ วันที่ 1 ตุลาคม
ดังนั้น ผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องครบ 60 ปีบริบูรณ์ภายใน 30 กันยายน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16
“การนับอายุของบุคคล ให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทิน ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด”
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5
“ถ้ากําหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวันให้เริ่มต้นนับใน ขณะที่เริ่มการนั้น ถ้ากําหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทําการงานกันตาม ประเพณี”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7841/2552
ผู้เสียหายที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2532 จึงต้องนับอายุตั้งแต่วันเกิด คือนับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2532 เป็นหนึ่งวันเต็ม ผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547 ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/5 …
หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนมาก ที่ กค 0513/ว 58 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2537 เรื่อง การนับอายุบุคคล 
ข้อ 1. บุคคลซึ่งเกิดในวันที่ 1 ตุลาคม 2477 จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 30 กันยายน 2537 ตามนัยมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน) ...
ดังนั้น ผู้ที่เกิดวันที่ 1 ตุลาคม จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 30 กันยายน ตามข้อกฎหมายข้างต้น จึงมีสิทธิที่จะลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้
ซึ่งที่ผ่านมา หนังสือสั่งการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอาจจะมีความคลาดเคลื่อนในการนับอายุ แต่เพื่อให้เกิดความถูกต้องตามหลักกฎหมายและแนวทางคำพิพากษา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดมาตรฐานในการปฏิบัติงานต่อไป ดังนั้น จึงให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0810.6/ว0541 ลงวันที่ 30 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

#ประเด็นที่ 2 : การรับลงทะเบียน
ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2560 ข้อ 7 กำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในปีงบประมาณถัดไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ซึ่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามข้อ 5 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 จึงกำหนดหลักเกณฑ์การลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนี้
1. การยื่นคำขอลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2561 (ปีงบประมาณ 2561)
1) ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ที่มาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2561 (ปีงบประมาณ 2561) จะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 (1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป)
2) ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณถัดไป (ปีงบประมาณ 2562) ที่มาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2561 (ปีงบประมาณ 2561) จะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไปจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
2 การยื่นคำขอลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2561 (ปีงบประมาณ 2562)
ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วแต่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ไม่มาลงทะเบียนในช่วงเวลาตามข้อ 1 และมาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ตุลาคม – พฤศจิกายน 2561 (1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป) จะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป)
การรับลงทะเบียนผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ 2562 ตามหนังสือสั่งการ ที่ มท 0810.6/ ว 5651 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ที่ให้ผู้มีสิทธิรับเบี้ยผู้สูงอายุมาลงทะเบียนภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 ไม่ต้องดำเนินการอะไรแล้ว เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ประกาศรายชื่อแล้ว และข้อมูล การลงทะเบียนดังกล่าวอยู่ในระบบสารสนเทศฯเรียบร้อยแล้ว โดยที่ผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนดังกล่าว จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป รวมถึงผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่มาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2561 จะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไปเหมือนกัน
การรับลงทะเบียนผู้สูงอายุตั้งแต่ตุลาคม – พฤศจิกายน 2561 จะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป) ต้องเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 ตุลาคม 2502 ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้มาลงทะเบียนในช่วงระยะเดือนมกราคม – กันยายน 2561 ตามหนังสือแนวทางในหนังสือ สั่งการ ที่ มท 0810.6/ว0541 ลงวันที่ 30 มกราคม 2561
สำหรับการลงทะเบียน ผู้ที่มีสิทธิลงทะเบียนต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 6 ตามระเบียบ มท. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. พ.ศ. 2552 เป็นไปตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0891.3/ว 3670 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 และหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0891.3/ว 2500 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติในการจ่ายเงินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553 ที่กำหนดแนวทางให้ อปท. จัดให้มีการลงทะเบียนเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุรายใหม่ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน

#ประเด็นที่ 3 : บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
เนื่องจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ ดังนั้นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะได้หารือถึง คุณสมบัตรผู้รับบัตร เงื่อนไขการรับบัตร ระยะเวลาของโครงการ ว่าขัดต่อคุณสมบัตรของผู้มีสิทธิจะได้รับเบี้ยยังชีพ ตามข้อ 6 (4) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. พ.ศ. 2552 หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้เสนอข้อแก้ไขระเบียบดังกล่าวโดยเพิ่มเติมข้อความตอนท้ายใน ข้อ 6 (4) “และสวัสดิการอื่นที่ได้รับเพิ่มตามมติคณะรัฐมนตรี” เพื่อให้ผู้ที่ได้รับสวัสดิการอื่นเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัตรในการรับเบี้ยยังชีพ ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยแล้ว เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561

#ประเด็นที่ 4 : การงบประมาณ
1. การของบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยยังชีพนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง กรมบัญชีกลาง เพื่อจัดทำเป็นวงเงิน คำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเบื้องต้น (Pre-ceiling) ในการเสนอของบประมาณให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. กรณีงบประมาณไม่เพียงพอ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ ว5794 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2560 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมทดรองจ่ายไปพลางก่อน แจ้งแนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ดังนี้
- กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการ แต่ผู้มีสิทธิได้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการรายใหม่เพิ่มขึ้น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้มีรายจ่ายจริงมากกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถโอนงบประมาณรายจ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้
- กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการโอนงบประมาณรายจ่ายมาใช้แล้ว หากมีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการบริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจขอทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อยืมเงินสะสมทดลองจ่ายไปพลางก่อน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 และข้อ 88 ประกอบคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 181/2548 เรื่อง การมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน เพื่อขอยืมเงินสะสมทดลองจ่ายไปพลางก่อน
- ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการในเขตพื้นที่กับข้อมูลในระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ตรงกัน หากได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอให้รายงานจังหวัดเพื่อแจ้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเสนอของบประมาณเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรต่อไป
3. กรณีผู้มีสิทธิได้ย้ายออกไปเดือนกันยายน 2561 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมจะจ่ายได้แค่เดือนกันยายน เท่านั้น. โดยเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ข้อ 8 ผู้สูงอายุผู้ใดที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ตนมีภูมิลําเนาอยู่ ต่อมาผู้สูงอายุนั้นได้ย้ายภูมิลําเนาไปอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้ผู้สูงอายุนั้น ไปลงทะเบียนและยื่นคําขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเอง ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ นับตั้งแต่วันที่ย้ายแต่ไม่เกินเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น ๆ ทั้งนี้ ให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ในปีงบประมาณถัดไป โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่แจ้ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมที่จ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุผู้นั้นทราบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ทั้งนี้ ในระหว่างปีงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมที่จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไปจนกว่าจะสิ้นปีงบประมาณ ดังนั้น เมื่อผู้สูงอายุย้ายในเดือนกันยายน ก็ต้องไปลงทะเบียนและยื่นคําขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ เพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณถัดไป คือ เดือนตุลาคม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์และแนะนำให้ผู้สูงอายุได้ทราบและปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการเสียสิทธิรับเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ
4. การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ข้อ 13 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตั้งงบประมาณในข้อบัญญัติ/ เทศบัญญัติ ยังไม่ได้มีการแก้ไขให้หน่วยงานอื่น หรือธนาคารมาจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่อย่างใด

#ประเด็นที่ 5 : เรื่องระบบสารสนเทศ
1. ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ใช้สำหรับผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรายใหม่ สำหรับผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดิมที่จะมีอายุครบ 70 80 90 ปีนั้น การปรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามขั้นบันได ดำเนินการตามแนวทางแบบเดิมคือปรับตามปีงบประมาณไม่ปรับระหว่างปี สำหรับผู้สูงอายุที่เกิดวันที่ 1 ตุลาคม รายเดิม ระบบสารสนเทศฯจะดำเนินการปรับปรุงให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดโดยจะปรับให้อัตโนมัติ และสำหรับกรณีผู้สูงอายุที่มีอายุ 59 ปี ที่ไม่สามารถลงข้อมูลในระบบสารสนเทศฯได้นั้น ซึ่งขณะนี้ระบบสารสนเทศอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบ โดยจะเร่งดำเนินการปรับปรุงระบบสารสนเทศฯเพื่อรองรับสำหรับการลงทะเบียนโดยด่วนต่อไป
2. กรณีของการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศฯ ปัจจุบันระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพของ อปท. เชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง โดยมีการตรวจสอบความมีชีวิตอยู่ (ตาย) ทุกเดือนพร้อมทั้งมีการประกาศรายชื่อผู้เสียชีวิตในระบบ ทุกวันที่ 28 ของทุกเดือน ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือ ที่ มท 0810.6/ว 298 ลงวันที่ 30 มกราคม 2561 เรื่องการตรวจสอบสถานะการมีชีวิต ของผู้มีสิทธิ์รับ เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ และผู้ป่วยเอดส์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ในระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเลือกทีรายงานรายละเอียดผู้มีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพที่มีสถานะเสียชีวิต ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะอัพเดทสถานะการมีชีวิตเป็นประจำทุกเดือน สำหรับกรณีการย้ายที่อยู่ระบบสารสนเทศฯยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากยังมีความเหลื่อมล้ำกันระหว่างระเบียบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และระเบียบการจ่ายเบี้ยความพิการ คือ การรับเบี้ยความพิการย้ายที่อยู่สามารถแจ้งแล้วไปรับที่ใหม่ได้ในเดือนถัดไป แต่เบี้ยผู้สูงอายุต้องรับที่เดิมจนสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งผู้สิทธิบางรายได้รับทั้ง 2 เบี้ยคือทั้งเงินเบี้ยความพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
3. การคำนวณอายุของผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้ดำเนินการปรับปรุงไปให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ ได้แก่ การปรับให้ผู้สูงอายุที่เกิดวันที่ 1 ตุลาคม ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว ระบบสารสนเทศที่จะได้ดำเนินการปรับปรุง ได้จัดทำรองรับการคำนวณอายุไว้แล้ว โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลในระบบสารสนเทศฯ ในหน้ารายงานประจำเดือนนั้นๆได้ และมีการคำนวณอายุที่ถูกต้องโดยไม่ต้องใช้โปรแกรมอื่นเพิ่มเติม

#ประเด็นที่ 6 : การรายงาน
การรายงานเป็นการสรุปรายงานการรับลงทะเบียนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน ว่าในช่วงที่เปิดให้ลงทะเบียนนั้น มีผู้มีสิทธิมาลงทะเบียนจำนวนเท่าใด เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการรายงานของบประมาณ โดยสามารถสรุปรายงานรวมทุกเดือน (มกราคม – พฤศจิกายน) และให้ลงในช่องหมายเหตุไว้ว่า ผู้ลงทะเบียนในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2561 จะรับเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2562 และ ผู้ที่ลงทะเบียนในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2561 จะรับเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2563 เรื่องการของบประมาณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเสนอของบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการจัดระบบการรับลงทะเบียน การจัดทำบัญชีรายชื่อ และ จ่ายเบี้ยยังชีพให้ถูกต้องครบถ้วน

#ประเด็นที่ 7 : การบริหารงานบุคคล
1. การจัดฝึกอบรมเรื่องเบี้ยยังชีพ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นได้มีการจัดอบรมหลักสูตร นักบริหารงานสวัสดิการสังคม นักพัฒนาชุมชน และเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน ตลอดทั้งปีงบประมาณ ซึ่งจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่จัดฝึกอบรมอยู่แล้ว ทั้งนี้ กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นจะได้จัดทำแนวทางในการดำเนินตามแนวทางดังกล่าว ให้จังหวัดเพื่อที่จะได้นำไปชี้แจง ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจ ให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้องไปในทิศทางเดียวกัน
2.จากฐานข้อมูลบุคลากรท้องถิ่นแห่งชาติ ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
- นักพัฒนาชุมชน จำนวน 6,577 คน
- เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน จำนวน 2,730 คน
- นักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 153 คน
ซึ่งจำนวนดังกล่าวยังไม่รวมลูกจ้างประจำและพนักงานจ้างที่ปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวด้วย ซึ่งอัตรากำลังจะมีแต่ละแห่งจะมีมากมีน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณงานและภาระค่าใช้จ่าย ดังนั้น หากมีการทำงาน ที่เป็นระบบ มีการวางแผนการทำงาน และมีการบูรณาการงานร่วมกันเชื่อว่างานต่างๆ สามารถสำเร็จได้ แต่หากปริมาณงานมากเกินกำลังที่มีอยู่ก็สามารถเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อขอกำหนดอัตราเพิ่มได้ โดยอำนาจการพิจารณาเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ก.จังหวัด

#ประเด็นที่ 8 : ข้อเสนอแนะ
8.1 แก้ไขระเบียบผู้สูงอายุให้เหมือนกับระเบียบพิการ คือ การลงทะเบียนเดือนนี้รับเดือนหน้า
การแก้ไขระเบียบผู้สูงอายุให้เหมือนกับระเบียบผู้พิการ คือ การลงทะเบียนเดือนนี้รับเงินเดือนหน้า นั้น
ในหลักการแล้วเห็นด้วย แต่ต้องมีการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ปัญหาต่างๆ รวมทั้งเรื่องของงบประมาณที่ต้องใช้ โดยในการแก้ไขระเบียบมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 นั้น จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติก่อน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสนอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติในโอกาสต่อไป
8.2 ให้มีการลงทะเบียนตามวิธีเดิมที่เราเคยปฏิบัติกันมาตลอด แต่ขยายระยะเวลาการรับลงทะเบียนให้นานขึ้นกว่าเดิมโดยลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. - พ.ย.
สำหรับการที่จะให้มีการลงทะเบียนตามวิธีการเดิมที่เคยปฏิบัติกันมาตลอด แต่ขยายระยะเวลาการรับลงทะเบียนให้นานขึ้นกว่าเดิม โดยลงได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤศจิกายน นั้น เนื่องจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ข้อ 7 กำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี แต่เนื่องจากช่วงระยะเวลาของการลงทะเบียน มีระยะเวลายาวถึง 11 เดือน ทำให้มีการลงทะเบียนคล่อมปีงบประมาณถึง 2 ปีงบประมาณ จึงต้องกำหนดแนวทางให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว

วันที่ : 20 กุมภาพันธ์ 2561   View : 1994